แนะนำขั้นตอนการเรียนต่อ ระดับปริญญาโท ต่างประเทศ

แนะนำขั้นตอนการเรียนต่อ ระดับปริญญาโท ต่างประเทศ


มีหลายคนนะครับที่เรียนจบในระดับปริญญาตรีแล้ว ตั้งความหวังว่าจะต้องต่อให้จบปริญญาโทให้ได้ ซึ่งเป้าหมายที่หวังไว้นั้นก็คือการได้เรียนต่อปริญญาโทในต่างประเทศ บางคนต้องพลาดโอกาสไปเพราะไม่มีความพร้อมในการเตรียมการที่ดีพอ ซึ่งถือว่าน่าเสียดายมาก วันนี้ผมจึงรวบรวมข้อมูลขั้นตอนการเรียนต่อระดับปริญญาโทในต่างประเทศมาให้อ่านกันครับ
ดังที่ได้กล่าวไปแล้วว่าขั้นตอนการเรียนต่อในต่างประเทศนั้นค่อนข้างยุ่งยาก ไม่ใช่เพราะอะไรหรอกครับ เพราะการที่ไม่ได้เป็นการเรียนด้วยภาษาของเรา ผู้ที่จะไปเรียนต่อจึงต้องมีการเตรียมตัวด้านภาษามาพอสมควร
โดยขั้นแรก คือดูว่าเราอยากไปเรียนประเทศไหน อเมริกา อังกฤษ แคนาดา ออสเตรเลีย หรือเป็นประเทศที่ไม่ใช้ภาษาอังกฤษ ไปเรียนสาขาอะไร มีมหาลัยไหนบ้างในประเทศนั้นที่มีชื่อเสียงในสาขาที่เราอยากไปเรียน ถ้าไม่ทราบว่ามหาลัยไหนดีบ้าง ก็ลองหา Ranking จัดอันดับมหาลัยในสาขานั้นมาดู ก็จะได้แนวคิดคร่าวๆ ว่ามหาลัยไหนดีบ้าง
ซึ่งถ้ามาถึงขั้นตอนนี้ ทุกคนคงจะมีรายชื่อมหาวิทยาลัยในความคาดหวังเอาไว้แล้วนะครับ แนะนำให้เตรียมไว้หลายที่สักหน่อย อย่าเพิ่งตัดสินใจเลือกทันที ก่อนที่จะตัดสินใจเลือกนั้น ควรที่จะเข้าไปดูเว็บของมหาลัยต่างๆ ที่เราสนใจ ดูรายละเอียดสาขาวิชาที่เราอยากเรียนว่าวิชาต่างๆ น่าสนใจหรือเปล่า ส่วนมาก Core Courses ของแต่ละมหาลัยจะไม่ต่างกันมาก ส่วน Optional Courses ของแต่ละมหาลัยอาจจะเน้นเรื่องต่างๆ ไม่เหมือนกัน ควรจะดูว่ามหาลัยไหนมีวิชาที่เราอยากเรียน
ถัดมาก็เป็นเรื่องใหญ่อีกเรื่องหนึ่งครับ คือเรื่องของค่าใช้จ่ายนั่นเอง บางคนอาจจะไม่มีปัญหาอะไร แต่สำหรับใครที่มีปัญหา ถ้าต้องการขอทุนของทางมหาวิทยาลัยเอง ลองเข้าไปดูที่ Scholarships หรือ International Students มักจะเขียนรายละเอียดเกี่ยวกับทุนสำหรับนักเรียนต่างชาติและรายละเอียดการ สมัครไว้ด้วย บางทีอาจจะมีใบสมัครทุนให้ดาวน์โหลดได้เลย (หรือจะติดตามทุนการศึกษาใหม่ๆได้ที่ Scholarship.abroadtip.comครับ)
หลังจากนั้น ในเว็บของมหาลัย มักจะมีแบบฟอร์มให้เรากรอกชื่อที่อยู่ เพื่อให้มหาลัยส่งใบสมัครไปให้ที่บ้าน (มักจะส่งให้ฟรี ไม่คิดค่าค่าส่ง) เราก็กรอกแบบฟอร์มนั้น แล้วรอประมาณ 2-3 สัปดาห์ก็จะได้รับใบสมัครและรายละเอียดของมหาลัยและสาขาที่เราอยากเรียนส่งมาถึงบ้าน ถ้าในเว็บไม่มีแบบฟอร์มให้เรากรอก ก็จะมีอีเมล์ของทาง International Office เราก็อาจจะส่งอีเมล์ไปขอให้มหาลัยส่งใบสมัครมาให้ได้ ถ้าไม่มีใบสมัครทุนให้โหลด ก็ขอให้ทาง International Office ส่งใบสมัครทุนมาพร้อมกับใบสมัครมหาลัยก็ได้
ระหว่างนั้นก็รอใบสมัครส่งมาครับ หลังจากได้ใบสมัครส่งมาที่บ้านเรียบร้อยแล้ว ก็กรอกใบสมัคร ขอให้อาจารย์เขียนจดหมาย Recommendation เตรียมเอกสารต่างๆ ที่ทางมหาลัยต้องการ ส่งใบสมัครกลับไปที่มหาลัยเป็นอันเรียบร้อย ทางมหาลัยจะติดต่อกลับมาภายในเวลา 1-2 เดือนหลังจากได้รับใบสมัครครับ
หลังจากนั้นถ้ามหาวิทยาลัยตอบรับก็เป็นเรื่องของการขอวีซ่าและเตรียมเอกสารต่างๆ ซึ่งยุ่งยากพอสมควร ตอนหน้าจะพาไปพบกับข้อมูลของเอกสารต่างๆที่มักจะต้องใช้ในการเรียนต่อปริญญาโทต่างประเทศ รอติดตามกันนะครับ

หลังจากตอนที่แล้วเราพูดถึงขั้นตอนการทำเรื่องเพื่อเข้าเรียนต่อระดับปริญญาโทไปแล้ว วันนี้ก็จะเป็นเรื่องเพิ่มเติมเล็กน้อยเกี่ยวกับเอกสารที่ต้องใช้ในการเข้าเรียนต่อ อย่ารอช้าครับ มาดูกันดีกว่าว่าเอกสารที่ต้องใช้นั้นมีอะไรกันบ้าง
1. ใบสมัครมหาวิทยาลัย – เป็นสิ่งสำคัญที่สุดเลยล่ะครับ ควรกรอกด้วยตัวพิมพ์ใหญ่ (Capital Letter) หมึกสีดำ ให้อ่านได้ง่ายและชัดเจน ถ้าพิมพ์ได้ก็ดี หรือบางมหาลัยอาจจะมีให้ดาวน์โหลดเป็นไฟล์ MS Word ก็สามารถพิมพ์ลงในไฟล์แล้วพรินท์มาส่งได้เลย
2. Transcript – บางที่อาจจะขอ Transcript ตัวจริง แถมยังมีซองให้เราเอาไปให้ฝ่ายทะเบียนของมหาลัยประทับตราอีกต่างที่ แต่บางที่ไม่ได้ระบุว่าต้องใช้ตัวจริง จะส่งสำเนาไปแทนก็ได้ แต่โดยส่วนตัวแล้วเราชอบส่ง transcript ตัวจริง เพราะดูน่าเชื่อถือดี
3. จดหมาย Recommendation – มหาลัยในต่างประเทศมักจะระบุให้ใช้จดหมาย Recommendation จากอาจารย์ แต่สำหรับบางสาขาเช่น MBA มักจะต้องการจดหมาย Recommendation จากหัวหน้างาน ควรจะเผื่อเวลาในการขอจดหมาย Recommendation ไว้อย่างน้อย 2 เดือน เพราะบางครั้งอาจารย์อาจจะไม่ว่าง หรือติดต่ออาจารย์ได้ยาก
4. คะแนนสอบภาษาอังกฤษ เช่น TOEFL, IELTS และคะแนนอื่นๆ เช่น GRE, GMAT — ถ้าระบุว่าให้ใช้ตัวจริง ก็ส่งตัวจริงไปให้ ถ้าไม่ระบุ จะส่งสำเนาไปก็ได้ (ถ้าเป็นที่อังกฤษ มหาลัยจะให้น้ำหนักกับคะแนน IELTS มากกว่า TOEFL)
5. Statement of Purpose – คือเรียงความเล่าประวัติการศึกษาและประวัติการทำงานที่เกี่ยวข้องกับสาขาที่ จะสมัครเรียน ควรจะมีการนำเสนอที่เป็นระบบและน่าสนใจ ถ้าไม่ถนัดเขียนเรียงความ ควรจะหาหนังสือมาอ่านดูแนวทาง และให้ผู้ที่มีประสบการณ์ช่วยตรวจทาน
ขอเน้นว่า
1) ให้เขียนเรียงความอย่างเป็นระบบ เพราะฝรั่งจะชอบเรียงความที่
นำเสนอความคิดต่างๆ เรียงลำดับอย่างเป็น ขั้นเป็นตอน เช่น ประวัติการศึกษาเล่าตามลำดับอายุ ไม่ใช่เรียงสับไปสับมา
2) ควรจะเขียนจุดเด่นของเราที่คิ
ดว่าคนอื่นไม่มี เวลาเขียนควรคำนึงว่ามหาลัยได้รับใบสมัครเป็นร้อยๆ พันๆ จะทำอย่างไรให้เนื้อหาใบสมัครของเราโดดเด่น และทำให้มหาลัยสนใจใบสมัครของเรา
6.Resume – บางครั้งมหาลัยอาจจะไม่ได้ขอ แต่ส่งไปด้วยก็ดี จะช่วยเพิ่มความน่าสนใจให้ใบสมัครของเรา และช่วยเพิ่มน้ำหนักให้ Statement of Purpose ของเราด้วย ควรจะเขียนประสบการณ์ที่เกี่ยวกับหลักสูตร ผู้พิจารณาใบสมัครอาจจะไม่มีเวลาอ่านมากนัก จึงควรเขียนให้สั้น กระชับ แต่ได้เนื้อหาสำคัญที่เราต้องการสื่อ ความยาวประมาณ 1-2 หน้า
7. หลักฐานทางการเงิน – เช่น จดหมายรับรองจากธนาคาร บางมหาลัยอาจจะยอมให้ส่งตามไปหลังจากได้ offer แล้ว แต่บางที่ก็บอกว่าจะไม่พิจารณาใบสมัครถ้าไม่ได้รับหลักฐานทางการเงินส่งมา กับใบสมัคร
ทั้งหมดที่รวบรวมมาให้นี้เป็นเอกสารที่ต้องใช้เป็นส่วนใหญ่นะครับ อาจจะมีเอกสารอีกหลายอย่างที่ต้องใช้โดยเฉพาะ ซึ่งทางมหาวิทยาลัยที่เราสมัครจะเป็นฝ่ายแจ้งให้เราทราบครับ คิดว่าข้อมูลนี้คงจะช่วยคลายความสงสัยให้กับหลายคนได้เป็นอย่างดีนะครับ >_<

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

ขั้นตอนการบวชชีพราหมณ์ / เนกขัมมะที่วัดสังฆทาน และการลาสิกขา

วิธีลดไขมันรอบเอว ไขมันส่วนเกิน

8 ลักษณะเด่นของผู้หญิงที่กำราบ 'ผู้ชายเจ้าชู้' ได้อยู่หมัด!!